บริษัทสตาร์อัปด้านพลังงานหมุนเวียนสัญชาติโคลัมเบียอย่าง “อี-ดีนา” (E-Dena) ได้เปิดตัว “WaterLight” โคมไฟแบบพกพา แถมยังทำหน้าที่เป็นแหล่งกำเนิดไฟฟ้า เพื่อชาร์จโทรศัพท์มือถือ หรืออุปกรณ์ต่าง ๆ ที่เชื่อมผ่าน USB โดยทีมผู้สร้างออกแบบให้โคมไฟนี้ใช้งานได้อย่างง่ายดาย เพียงแค่เติม “น้ำทะเล” หรือ “ปัสสาวะ” (ในกรณีฉุกเฉิน) ประมาณ 500 มิลลิลิตรเข้าไป เท่านี้ก็มีไฟฟ้าใช้ได้ยาวนานถึง 45 วันเแล้ว
WaterLight
ไอเดียสุดบรรเจิดนี้ได้รับความร่วมมือจากอีกบริษัทคือ Wunderman Thompson เอเจนซีด้านธุรกิจสื่อสารของโคลัมเบีย ซึ่งต้องการทลายข้อจำกัดเดิม ๆ ของโคมไฟพลังงานแสงอาทิตย์ที่ต้องอาศัยการเปลี่ยนพลังงานแสงอาทิตย์มาเป็นพลังงานทดแทน แถมจะใช้ได้ก็ต่อเมื่อมีแสงแดดเท่านั้น แต่กับเจ้า WaterLight เพียงแค่เติมน้ำลงไปปุ๊บ แสงสว่างของโคมไฟก็ติดปั๊บขึ้นมาทันที
โดยโคมไฟ WaterLight จะอาศัยพลังงานจากแบตเตอร์รีแมกนีเซียม ซึ่งทำงานด้วยหลักการไอออไนเซชั่น กล่าวคือ เมื่อเราเติมน้ำเกลือเข้าไป – อิเล็กโทรไลต์ในน้ำเกลือจะทำปฏิกิริยากับแผ่นแมกนีเซียมและทองแดงที่อยู่ด้านใน – และผลิตกระแสไฟฟ้าออกมา (เปล่งแสง) อีกทั้งด้านบนของโคมไฟยังมีรูสำหรับปล่อยให้ไฮโดรเจนที่เกิดขึ้นในกระบวนการไอออไนเซชั่นสามารถลอยออกไปได้อีกด้วย
ซึ่งแม้ว่ากระบวนการดังกล่าวจะเป็นที่รู้จักมาอย่างนาน แต่ทีมผู้สร้างของ E-Dena ได้พัฒนาวิธีรักษาปฏิกิริยาเคมีไว้ได้เป็นระยะเวลานาน ทำให้โคมไฟ WaterLight สามารถทำงานทั้งวันทั้งคืนตลอด 24 ชั่วโมง และมีอายุการใช้งานประมาณ 5,600 ชั่วโมง หรือราว ๆ 2-3 ปี (ขึ้นอยู่การความถี่ของการใช้) ซึ่งหลังจากหมดอายุการใช้งาน หลอดไฟของโคมไฟดังกล่าวยังสามารถนำมารีไซเคิลได้อีกด้วย
ทั้งนี้ แรงบันดาลใจที่กลายมาเป็นโคมไฟ WaterLight นั้นได้รับอิทธิพลจาก “ชาววายู” (Wayúu) ซึ่งเป็นชนเผ่าพื้นเมืองที่อาศัยอยู่บริเวณตอนเหนือสุดของอเมริกาใต้ บริเวณประเทศโคลอมเบียและเวเนซุเอลา โดยที่ผ่านมาการอยู่ในพื้นที่อันห่างไกล ทำให้ชาววายูถูกลืมจากทั้งรัฐบาลและคนในสังคม จนต้องอยู่อย่างมีไฟฟ้าใช้ไม่เพียงพอมาหลายศตวรรษ
(รูปเล็ก) ช่างฝีมือท้องถิ่นของชนเผ่าวายู
ด้วยเหตุนี้ บริษัททั้งสองแห่งจึงได้ผสมผสานมรดกทางวัฒนธรรมของชนเผ่าเข้ากับการออกแบบไฟ โดยโคมไฟ WaterLight จะมีส่วนประกอบของ “ไม้อูราปัน” ทรงกระบอกของโคลัมเบีย ผนวกกับลวดลายแบบดั้งเดิมที่แกะสลักไว้ในกระบอกไม้ อีกทั้งสายรัดหลากสีที่ทอด้วยมือจากช่างฝีมือท้องถิ่นของชนเผ่าวายู ก่อนจะกลายมาเป็นโคมไฟแบบพกพาที่ใคร ๆ ก็สามารถนำไปใช้ที่ไหน หรือเมื่อไหร่ก็ได้ทั้งนั้น
อย่างไรก็ตาม เป้าหมายของทีมผู้สร้างคือ การผลิตโคมไฟ WaterLight ในปริมาณที่มากพอสำหรับผู้คนทั่วโลก เนื่องจากข้อมูลล่าสุดของธนาคารโลกเมื่อปี 2019 ระบุว่า มีผู้คนอีกกว่า 840 ล้านคนทั่วโลกที่ยังไม่มีไฟฟ้าใช้ ซึ่งหากไม่มีแนวทางการแก้ไขที่ยั่งยืน ในอีก 10 ปีข้างหน้าตัวเลขดังกล่าวจะลดลงเพียง 200 ล้านคนเท่านั้น ดังนั้น ทีมผู้สร้างจากโคลัมเบียจึงคาดหวังว่าโคมไฟของพวกเขาจะมีประโยชน์ในพื้นที่ที่ไม่มีโครงข่ายไฟฟ้าครอบคลุม เช่น ประเทศซีเรีย, โซมาเลีย และเซียร์ราลีโอน นั่นเอง