นี่คือปลา “ซีลอาแคนท์” (Coelacanth – ชื่อวิทยาศาสตร์ : Latimeria chalumnae) จัดอยู่ในกลุ่มปลาโบราณ พวกมันมีชีวิตอยู่เมื่อ 420 ล้านปีก่อน หรือช่วงยุคพาลีโอโซอิก โดยนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าปลาซีลอาแคนท์สูญพันธุ์ไปตั้งแต่ 66 ล้านปีที่แล้วพร้อมกับไดโนเสาร์ แต่ทว่ามันกลับถูกค้นพบเมื่อปี ค.ศ.1938 ทำให้ผู้คนเรียกกันว่า “ฟอสซิลที่ยังมีชีวิต” อย่างไรก็ตาม ล่าสุดนักวิจัยกังวลว่ามันอาจกำลังเสี่ยงจะสูญพันธุ์จริง ๆ แล้ว
โดยปลาซีลอาแคนท์เป็นปลาที่เก่าแก่ที่สุดในกลุ่ม “ปลาที่มีครีบเป็นพู่” (Sarcopterygii) ซึ่งครีบดังกล่าวจะขึ้นอยู่บริเวณอกและด้านข้างลำตัว เสมือนเป็นขาที่ใช้เคลื่อนไหวในน้ำ นอกจากนี้ มันยังมีลายจุดสีขาวตามร่างกายที่เป็นเอกลักษณ์ มีน้ำหนักประมาณ 90 กก. ยาวได้ถึง 2 เมตร อีกทั้งยังมีเกล็ดอยู่ทั่วร่างกาย สามารถพบได้บริเวณหุบเขาใต้ทะเลที่ระดับความลึกประมาณ 100-500 เมตร
ซึ่งหลังจากการค้นพบเมื่อปี 1938 บริเวณนอกชายฝั่งแอฟริกาใต้ นับตั้งแต่นั้น ปลาชนิดนี้ก็ถูกพบว่าติดมากับอวนหาปลาในหลายพื้นที่ของมหาสมุทรอินเดียทั้งแทนซาเนีย และหมู่เกาะคอโมโรส อีกทั้งยังพบปลาซีลอาแคนท์สายพันธุ์ Latimeria menadoensis ในน่านน้ำของประเทศอินโดนีเซียด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้ งานวิจัยที่ตีพิมพ์ลงใน South African Journal of Science เมื่อเดือนมีนาคม ปี 2021 ระบุว่า การมาถึงของ “อวนจารีฟา” (Jarifa Gillnets) บวกกับแรงหนุนจากประเทศจีนเกี่ยวกับความต้องการครีบและน้ำมันของฉลามตั้งแต่ช่วงปลายปี 1980 เป็นต้นมา ทำให้พบปลาซีลอาแคนท์ถูกจับติดไปกับอวนเป็นจำนวนมาก (โดยไม่ตั้งใจ) ทั้งในมาดากัสการ์และแถบตะวันตกของมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งที่น่าตกใจคือ ส่วนใหญ่เป็นปลาซีลอาแคนท์ที่กำลังตั้งท้องด้วย
แอนดรูว์ คุก หนึ่งในทีมวิจัยกล่าวว่า “อวนจารีฟานั้นถือเป็นนวัตกรรมที่ค่อนข้างใหม่และอันตรายมากในการดักจับฉลาม เนื่องจากมีขนาดใหญ่และสามารถจมลงได้ลึก โดยปัจจุบันยังถือเป็นภัยคุกคามสูงสุดต่อประชากรของปลาซีลอาแคนท์ด้วย เพราะโดยทั่วไปอวนดังกล่าวจะอยู่ในน้ำลึกประมาณ 100-300 เมตร แถมยังมักอยู่ในบริเวณที่เป็นพื้นที่ขรุขระ ซึ่งเป็นบริเวณเดียวกันกับที่ปลาซีลอาแคนท์ชอบอาศัยอยู่”
เพาเบิร์ต มาหาตันเต นักวิจัยจาก IHSM กล่าวว่า “ก่อนหน้านี้เคยมีชาวประมงมาที่สถาบันเพื่อขายปลาซีลอาแคนท์ในราคาสูงให้กับพวกเรา แม้เราจะรับซื้อไว้ในช่วงแรกเพื่อนำไปศึกษาต่อ แต่ก็ไม่รับซื้อเพิ่มเพราะมันจะสร้างแรงจูงใจให้พวกเขาล่าปลาชนิดนี้ ดังนั้น นอกจากการจับเพื่อนำไปวิจัย สะสม หรือตั้งโชว์ เราไม่พบความจำเป็นที่ชาวประมงจะตั้งใจจับปลาชนิดนี้เลย เนื่องจากพวกมันไม่เหมาะแก่การบริโภค เพราะมีเนื้อที่เหนียวและเหม็นนั่นเอง”
อย่างไรก็ตาม ทีมนักวิจัยยังเสนอแนะว่า “การห้ามใช้อวนจารีฟาสำหรับดักจับปลาอาจเป็นการแก้ปัญหาที่ยากสำหรับชาวประมง ดังนั้น ควรมีการโซนนิงพื้นที่ทางทะเลที่ควรได้รับการคุ้มครองอย่างเข้มงวด กับพื้นที่ที่สามารถหาปลาได้ และอวนจับปลาดังกล่าวควรจำกัดการใช้เฉพาะบริเวณที่ไม่ก่อให้เกิดอันตรายร้ายแรงต่อสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ด้วย ไม่เช่นนั้น แม้จะรอดพ้นจากยุคไดโนเสาร์มาได้ แต่เผ่าพันธุ์ของพวกมันอาจต้องจบลงเพราะมนุษย์ในที่สุด”